หน้าเว็บhttp://thaistudiesa8.blogspot.com/2017/05/blog-post_71.html

วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ประวัติความเป็นมาและศิลปะของมัสยิดจักรพงษ์



ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ เกิดขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๒-๓ประมาณ ๒๐๐ กว่าปีมาแล้ว ซึ่งเป็นชุมชนมุสลิมแรก ที่อยู่ในเขตพระนครและเป็นมุสลิมเชื้อสายมลายูที่อพยพมาจากภาคใต้ ชาวมุสลิมกลุ่มนี้มีฝีมือในการทำทอง และมีผลงานที่ทำให้ราชสำนักจนใครๆ ก็กล่าวขานถึงฝีมือ สำหรับชุมชนมัสยิดจักรพงษ์นี้ รู้จักกันในหลายชื่อ เช่น ตรอกสุเหร่า สุเหร่าวัดตองปุ ซึ่งหมายถึงสุเหร่าที่ตั้งอยู่ใกล้วัดตองปุหรือวัดชนะสงคราม สุเหร่าบางลำพู เพราะตั้งอยู่ในอาณาบริเวณใกล้กับคลองบางลำพูที่เป็นส่วนหนึ่งของคลองรอบกรุง และที่เรียกกันว่า มัสยิดจักรพงษ์ น่าจะเป็นเพราะมีการตัดถนนจักรพงษ์ผ่านบริเวณใกล้กับที่ตั้งมัสยิด 



ศิลปะของมัสยิดจักรพงษ์เป็นอย่างไร?




สถาปัตยกรรมของมัสยิดจักรพงษ์ มีความผสมผสาน เป็นแบบกึ่งอาหรับ กึ่งโรมันผสมเปอร์เซีย เช่น มีเสาคู่  มัสยิดจักรพงษ์หลังนี้มีอายุร่วม 
100 กว่าปี ก่อนมีการบูรณะซ่อมแซม ตัวอาคารนั้น ทำด้วยไม้ และในปัจจุบันตัวอาคารที่ผ่านการบูรณะซ่อมแซมมานั้น ก็ยังคงสภาพ และรักษาเอกลักษณ์ต่างๆของตัวอาคารเดิมไว้อย่างครบถ้วน








วันอังคารที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แนวทางการดำเนินงานของมัสยิดจักรพงษ์





         มัสยิดถือเป็นองค์กรนิติบุคคล มีกรรมการบริหารมัสยิด ส่วนชุมชนก็มีกรรมการบริหารชุมชน ทั้งสองส่วนทำงานร่วมกัน การจัดการบริหารของมัสยิดนั้น จะมีการรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา เพราะมัสยิดเป็นนิติบุคคล จึงไม่มีรายได้ประจำ เงินที่ได้จากการบริจาคเหล่านั้น จะนำมาจัดการเรื่องค่าใช้จ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าครูสอนศาสนา ซึ่งมัสยิดทุกแห่งต้องมีการสอนศาสนา สำหรับมัสยิดจักรพงษ์จะมีการสอนศาสนาในช่วงเวลา ๑๗.๐๐ – ๑๙.๐๐ น. วันจันทร์ถึงวันศุกร์ โดยจะมีเด็กๆชาวมุสลิมที่อาศัยในบริเวณนั้นมาเรียน\


       

มัสยิดนั้นจะอยู่คู่กับโรงเรียน ส่วนโรงเรียนก็จะอยู่คู่กับบ้าน ชุมชนมุสลิมจะมีบ้าน โรงเรียน 
และมัสยิดอยู่ด้วยกัน ทั้ง ๓ อย่างนี้จะทำงานร่วมกัน หากชุมชนมุสลิมมีบ้านแต่ไม่มีมัสยิด หรือมีมัสยิดแล้วไม่มีโรงเรียน ก็จะไม่เกิดอะไรขึ้น กลายเป็นความว่างเปล่า ไม่มีคนมาทำความดี ดังนั้นทั้งสามส่วนจึงเป็นสิ่งที่ดำเนินการและทำงานไปด้วยกัน คนในชุมชนจะส่งลูกหลานมาเรียนรู้เรื่องศาสนาซึ่งถือเป็นหน้าที่ที่พวกเขาพึงปฏิบัติ เมื่อเด็กได้รับการเรียนรู้ มีความรู้ความสารถ และความศรัทธา เขาก็จะมาทำความดีเพื่อชุมชนมัสยิดของเขาต่อไป 


       คนที่มาทำละหมาดที่มัสยิดจักรพงษ์นอกจากคนในชุมชนแล้ว ยังมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาพักในบริเวณนี้ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งจะเข้ามาทำละหมาดตามเวลาของทางศาสนา คือ ๕ เวลา เช้า กลางวัน บ่าย เย็น และค่ำ มุสลิมทุกคนจะรู้เวลาทำละหมาดเป็นอย่างดีโดยผ่านกระบวนการศึกษาศาสนามาตั้งแต่เด็ก ซึ่งถือเป็นกฎข้อบังคับที่เด็กชาวมุสลิมต้องปฏิบัติตาม ศาสนาอิสลามถือได้ว่าเป็นระบอบปกครองหนึ่ง ที่ผู้นำสูงสุดจะต้องดูแลคนในชุมชน ถือว่าทุกคนในชุมชนอยู่ร่วมกันและคนในชุมชนก็ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้นำด้วย




วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ในอดีต


     ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ เกิดขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๒-๓ เป็นมุสลิมเชื้อสายมลายูที่อพยพมาจากภาคใต้ ชาวมุสลิมกลุ่มนี้มีฝีมือในการทำทอง คนในชุมชนส่วนใหญ่จึงมีความสามารถและประกอบอาชีพการทำทอง เนื่องจากสืบทอดต่อๆกันมาจากบรรพบุรุษ ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ ตั้งอยู่ในบางลำพู ซึ่งในสมัยนั้นมีความเจริญรุ่งเรืองมาก และรายล้อมไปด้วยชุมชนไทยพุทธ มอญ และจีน
ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ชนชาติ ภาษา และ ศาสนา
ก่อเกิดเป็นความผสมผสานของวิถีชีวิต ผู้คนอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจ เคารพซึ่งกันและกัน ใช้ชีวิตอย่างสงบสุข มัสยิดจักรพงษ์เป็นศูนย์กลางของชุมชน โดยเป็นทั้งสถานที่ทำพิธีกรรมทางศาสนา สถานที่ประชุม รวมไปถึงสถานที่สำหรับการเรียนการสอนศาสนาของคนในชุมชน เดิมบริเวณของมัสยิดนั้น มีขนาดเล็ก แต่ภายหลังผู้คนย้ายออกไปอยู่ที่อื่น จึงได้บริจาคที่ดินให้กับมัสยิด มัสยิดจึงมีบริเวณกว้างขวางขึ้นและมีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มมากขึ้น

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ในปัจจุบัน


วิถีชีวิตบางอย่างที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมโดยรอบ จากเดิมที่ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์เต็มไปด้วยช่างทำทองที่มีชื่อเสียง คนในชุมชนยึดอาชีพการทำทองเป็นหลัก การเปลี่ยนแปลงของสังคม ทำให้คนในชุมชนหันไปทำงานอย่างอื่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น งานราชการ หรือค้าขาย ทำให้อาชีพการทำทองหายไปจากชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ นอกจากนี้ สิ่งแวดล้อมรอบชุมชนก็มีส่วนต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงไปของชุมชน อย่างเช่นการเสื่อมโทรมลงของบางลำพูจากอดีต 




  วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของคน ในบางลำพูนั้น ส่งผลกระทบต่อชุมชนมัสยิดจักรพงษ์เป็นอย่างมาก มีแหล่งสถานบันเทิงมากมาย และจากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้คนบริเวณรอบนั้น ต่างได้รับคำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่อยากให้มีผับบาร์รอบๆ เพราะเป็นสถานที่อโคจร แต่เข้าใจว่าไม่สามารถเปลี่ยนได้เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ถึงแม้จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ คนในชุมชนก็สามารถปรับตัวไปตามบริบทสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ โดยยึดถือและปฏิบัติตามหลักศาสนา สิ่งใดห้ามก็ละเว้น ดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันกับทุกศาสนา แม้อาจมีความแตกต่างในด้านความคิดและการนับถือศาสนา แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันและช่วยกันพัฒนาสังคมได้
      งานบางงานชาวมุสลิมไม่สามารถเข้าร่วมได้ เช่น งานบวช งานกฐิน รวมถึงพิธีกรรมที่เกี่ยวกับศาสนาอื่นโดยตรง แต่สามารถเข้าร่วมงานทางสังคมร่วมกับคนศาสนาอื่นได้ เช่น งานทำบุญบ้านใหม่ งานแต่งงาน นั่นแสดงให้เห็นว่าชาวมุสลิมสามารถอยู่ร่วมกับคนศาสนาอื่นได้อย่างสันติ ไม่แตกแยก และเคารพสิทธิของคนศาสนาอื่น 

           ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าความเปลี่ยนแปลงรอบๆชุมชนไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชน ชุมชนยังสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ศาสนาได้สร้างสิ่งที่ดีงาม ขึ้นอยู่ที่ตัวบุคคลว่าจะปฏิบัติตามคำสอนนั้นหรือไม่



วันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แนวโน้มของมัสยิดจักรพงษ์ในอนาคต





           จากการเปลี่ยนแปลงไปของสังคมโดยรอบชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ ทำให้คนในชุมชนต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนไป ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ไม่ได้ทำลายวิถีชีวิตของคนในชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ไปเลย เพราะพวกเขายึดหลักศาสนาที่เป็นเกราะป้องกัน และช่วยพยุงชุมชนของพวกเขาไว้ และพวกเขาจะดำเนินชีวิตต่อไป โดยต้องสร้างความเจริญแก่ชุมชน สร้างความรู้ความเข้าใจในศาสนาแก่เด็กเยาวชนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นเกราะป้องกันจากสิ่งไม่ดีต่างๆ ซึ่งสังคมในปัจจุบันมีคนทุกชนชั้นอาศัยอยู่ร่วมกัน มีทั้งคนที่มีโอกาสและไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา คนระดับล่างที่ไม่มีโอกาสนั้น ถือเป็นตัวแปรสำคัญ และจากการสัมภาษณ์หัวหน้าชุมชนบริเวณนั้นก็ได้ทราบว่า ในอนาคตอาจมีแนวโน้มว่าชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ จะเปิดกว้างมากขึ้น มีกิจกรรมร่วมกัน เพื่อปลูกฝังเรื่องความศรัทธาในศาสนา รวมถึงบุคคลภายนอก และชาวต่างชาติที่อยากเรียนรู้ และศึกษาศาสนา ก็สามารถเข้าชมในขณะที่ทำพิธีละหมาดในมัสยิดได้ เพราะถือเป็นการเผยแพร่คุณลักษณะอันดีงามของศาสนาและชุมชน เพื่อทำให้ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ เป็นชุมชนที่ยังคงไว้ซึ่งการประพฤติปฏิบัติอันดีงามให้คนรุ่นหลังได้อนุรักษ์ไว้สืบไป




    

วันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

บรรณานุกรม



ปราณี กล่ำส้ม. (2549). ย่านเก่าในกรุงเทพฯ [เล่ม 1]. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์.
ปิลันธน์ ไทยสรวง. (2559,เมษายน 26). “บางลำพูในความทรงจำ” จากย่านตลาดเก่าสู่สวรรค์ราคาถูกของ
        นักท่องเที่ยว. [เว็บบล็อก]. สืบค้นจาก http://www.lek-prapai.org/home/view.php?id=662
ทวีพร คุ้มเมธา. (2558,พฤศจิกายน 1). ชุมชนมุสลิมเก่าแก่ในกรุงเทพฯ กำลังเผชิญภาวะไล่รื้อ. [เว็บบล็อก].
        สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2015/11/62220
ธัญพิสิษฐ์ เลิศบำรุงชัย. (2556,ตุลาคม 29). วิถีดั่งเดิมถูกสั่นคลอนเกสรลำพู. [เว็บบล็อก]. สืบค้นจาก
        http://oknation.nationtv.tv/blog/tanpisit/2013/10/29/entry-1
สกุลศรี ศรีสารคาม. (2552,กันยายน 13). ตามหา เพื่อรำลึกถึง ช่างทองคนสุดท้ายที่ตรอกสุเหร่า. [เว็บบล็อก].
        สืบค้นจาก http://oknation.nationtv.tv/blog/icetravel/2009/09/13/entry-1
สมปอง ดวงไสว. (2552). บางลำพูวิทยา. กรุงเทพฯ: เจริญวิทย์การพิมพ์.
อาณัติ อนันตภาค. (2552). บางบ้านบางเมือง. กรุงเทพฯ: ยิปซี กรุ๊ป.
อาดิศร์  อิดรีส  รักษมณี. (2554). สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ. สืบค้นจาก
       http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=36&chap=1&page=chap1.htm
อาดิศร์ อิดรีส รักษมณี. (2557). มัสยิดในกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ: มติชน.
อาลี เสือสมิง. (2554,พฤศจิกายน 15). ชุมชนมุสลิมคลองบางลำภู, บ้านตึกดิน และคลองมหานาค. [เว็บบล็อก].
        สืบค้นจาก http://alisuasaming.org/main/?p=2534
โอภาส มิตร์มานะ. ผู้ช่วยโต๊ะอีหม่าม, มัสยิดจักรพงษ์. (2560,เมษายน 26). สัมภาษณ์.
องค์ บรรจุน. (2553). สยาม หลากเผ่าหลายพันธุ์. กรุงเทพฯ: มติชน.